Image
new-year-key

14 วิธีฉลองปีใหม่อย่างมีความสุขในประเทศญี่ปุ่น

2022-12-26

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าปีใหม่ หรือ "โอโชงัตสึ" เป็นเทศกาลวันหยุดที่สำคัญที่สุดในญี่ปุ่น เริ่มตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม ถึงวันที่ 3 มกราคม ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะหยุดทำงานหรือไปเรียน และการใช้ช่วงเวลาพิเศษกับครอบครัวและเพื่อนฝูงคือหัวใจของเทศกาลนี้ นี่คือเคล็ดลับ 14 ข้อในการฉลองเทศกาลปีใหม่ตามวิถีวัฒนธรรมแบบญี่ปุ่น!

 

26 - 28, 30 ธันวาคม

สร้างบรรยากาศงานฉลองด้วยของตกแต่งรับปีใหม่

guide-new-year-1-1
guide-new-year-1-2

ตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม ญี่ปุ่นจะสว่างไสวไปด้วยไฟและของตกแต่งคริสต์มาส อย่างไรก็ดี ทันทีที่เข้าสู่วันที่ 26 ธันวาคม ของตกแต่งคริสต์มาสจะถูกปลดลงแล้วนำของตกแต่งปีใหม่ขึ้นแทน ในบรรดาเครื่องประดับตามขนบ คุณอาจจะสังเกตเห็น "คางามิโมจิ" ซึ่งเป็นโมจิข้าวสองก้อนเรียงซ้อนกันโดยมีส้มขมอยู่บนยอด "คาโดมัตสึ" คือของตกแต่งเป็นคู่ ทำจากไม้ไผ่และสน ติดประดับไว้ตรงทางเข้า และ "ชิเมนาวะ" ของประดับที่ทำจากเชือก มักจะติดไว้ที่ทางเข้าเพื่อปัดเป่าวิญญาณชั่วร้าย เป็นธรรมดาที่จะเห็นการตกแต่งที่เข้ากับสัตว์ประจำนักษัตรของปีที่มาเยือน ซึ่งสำหรับปี 2016 จะเป็นลิง


26 - 28, 30 ธันวาคม

ทำขนมโมจิด้วยวิธีดั้งเดิม

Image
guide-new-year-2-1.jpg
Image
guide-new-year-2-2

โมจิหรือขนมข้าวทำจากข้าวเหนียว เป็นหนึ่งในของเด่นในสำรับและของตกแต่งสำหรับปีใหม่ เพราะการทำโมจิมีขั้นตอนที่ต้องใช้แรงงานอย่างหนัก ปัจจุบันโมจิส่วนใหญ่จึงทำด้วยเครื่องจักร แต่ในช่วงปีใหม่ต้องใช้วิธีดั้งเดิมหรือ “โมจิทสึคิ” เท่านั้น ทำอย่างไรน่ะหรือ? โดยพื้นฐานแล้วข้าวโมจิที่ถูกแช่ข้ามคืนแล้วหุงจะถูกตำซ้ำๆ ด้วยค้อนไม้ด้ามใหญ่จนกระทั่งได้ความเหนียวที่ต้องการ ยืดออกอย่างทั่วถึง หลังจากนั้นจะถูกปั้นขึ้นรูปเพื่อรับประทาน ปกติโมจิหลายชุดจะถูกจัดเตรียมหลายวันไปจนถึงวันส่งท้ายปีเก่า และยังถูกใช้เป็นส่วนประกอบในของตกแต่งคางามิโมจิ และอาหารอย่างโอโซนิ


31 ธันวาคม

รับประทานโซบะ "โทชิโคชิ" ในวันส่งท้ายปีเก่า

Image
guide-new-year-3-1

ตามอักษรแปลว่าโซบะ “ข้ามปี” ในญี่ปุ่น โซบะ “โทชิโคชิ” จะถูกรับประทานเป็นอย่างสุดท้ายของปี โดยมีจุดประสงค์ทั้งทางปฏิบัติและสัญลักษณ์ เพราะต้องใช้เวลามากมายกับการเตรียมตัวสำหรับปีใหม่ อาหารง่ายๆ อย่างบะหมี่บัควีทช่วยแบ่งเบาภาระได้ ความหมายในทางสัญลักษณ์นั้นถูกเติมเข้าไปภายหลัง โดยอาจเป็นได้หลายอย่างขึ้นอยู่กับว่าคุณเล่าให้ใครฟัง แต่ที่เชื่อกันมากที่สุดก็คือเส้นบะหมี่ที่ยาวนั้นช่วยต่ออายุให้ยืนนาน แล้วยังเชื่อกันด้วยว่า คุณจะโชคร้ายหากยังรับประทานบะหมี่ไม่หมดก่อนที่ปีใหม่จะมาเยือน


31 ธันวาคม

เขย่าระฆังปีใหม่ที่วัด

Image
guide-new-year-4-1

ประเพณีปีใหม่ในญี่ปุ่นโดยมากจะเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมชำระล้าง พิธีทางศาสนานี้รู้จักในชื่อญี่ปุ่นคือ “โจยะ โนะ คาเนะ” ประกอบขึ้นในวัดพุทธทั่วญี่ปุ่นในวันสุดท้ายของปี ระฆังวัดจะถูกตี 108 ครั้ง เป็นสัญลักษณ์ถึง 108 สิ่งยั่วยุทางโลกในแนวคิดทางพุทธศาสนา ดังนั้นจึงเป็นวิธีแสดงถึงการขจัดตัวตนของเราในบาปประการทั้งหลาย เพื่อเตรียมตัวเริ่มต้นปีใหม่ด้วยความบริสุทธิ์สดใหม่ บางวัดอนุญาตให้ผู้เยี่ยมชมตีระฆังหลังจากเสร็จสิ้นพิธีกรรมแล้ว โดยเชื่อว่าทำแล้วจะนำโชคลาภมาให้


1 มกราคม

ชมแสงอรุณแรกแห่งปีใหม่

Image
guide-new-year-5-1

ในประเทศที่รู้จักกันดีว่าเป็น “แดนแห่งอาทิตย์อุทัย” ไม่ต้องสงสัยเลยว่าชาวญี่ปุ่นจำนวนมากเชื่อว่าแสงอรุณแรกแห่งปี หรือ “ฮัตสึฮิโนเดะ” มีพลังเหนือธรรมชาติสถิต ว่ากันว่าหากอธิษฐานในยามที่ดวงอาทิตย์แตะขอบฟ้าเป็นครั้งแรกของวันปีใหม่จะนำโชคดีมาให้ โดยเฉพาะเมื่อกระทำในสถานที่ซึ่งชมดวงอาทิตย์ขึ้นได้อย่างตระการตา ผู้คนจำนวนมากจะเดินทางไปยังภูเขาหรือทะเล รอคอยดวงอาทิตย์ขึ้นและรอการเริ่มต้นใหม่ของปี


มกราคม 1 - 3

ฉลอง ฉลอง และฉลองกันอีก

Image
guide-new-year-6-1
Image
guide-new-year-6-2

มีสำรับสองประเภทหลักที่รับประทานกันในช่วงเทศกาลฉลองปีใหม่ในญี่ปุ่น “โอเซจิ” และ “โอโซนิ” แน่นอนว่าทั้งสองอย่างนั้นอร่อยเลิศ

โอเซจินั้นย้อนไปได้ถึงยุคเฮอัน (795-1185) สมัยนั้นชาวญี่ปุ่นเชื่อถือโชคลางเป็นพิเศษ และมีความเชื่อว่าการทำอาหารหรือใช้เตาไฟในช่วง 3 วันแรกของปีใหม่นั้นไม่เป็นมงคล ดังนั้นอาหารทั้งหมดที่บริโภคในช่วงเวลานี้จำเป็นต้องเตรียมการล่วงหน้าก่อนที่ปีใหม่จะเริ่มต้นขึ้น ด้วยเหตุนี้อาหารที่สามารถเก็บได้หลายวันจึงเป็นหัวใจหลักของสำรับโอเซจิ อาหารประเภทเคี่ยว, อาหารที่ประกอบด้วยของตากแห้ง, และอาหารหมักดอง เป็นอาหารหลักของการเฉลิมฉลองปีใหม่ นอกจากนี้ แต่ละจานยังมีความหมายเชิงสัญลักษณ์เกี่ยวกับอายุยืน, สุขภาพดี, ความสมบูรณ์, ความสุข, และอีกมาก เป็นการเพิ่มพูนโชคลาภด้วยการรับประทาน

โอโซนิมีจุดเริ่มต้นจริงๆ จากซามูไร ในฐานะมื้อที่เต็มไปด้วยสารอาหารเพื่อให้พร้อมสำหรับสนามรบ และเริ่มเกี่ยวข้องกับเทศกาลปีใหม่ในศตวรรษที่ 16 ช่วงปลายสมัยมุโรมาจิ ส่วนประกอบหลักของโอโซนิคือก้อนโมจิข้าว และนอกจากนั้น จานนี้ยังเปิดให้ดัดแปลงได้กว้างขวาง โอโซนิสามารถใช้น้ำซุปได้หลากหลายแบบนับไม่ถ้วน และใส่ส่วนผสมอื่นๆ ต่างกันไปแล้วแต่ภูมิภาคหรือครอบครัว


1 มกราคม

ชนแก้วปีใหม่ด้วยสาเกเพื่อสุขภาพ

Image
guide-new-year-7-1

ประเพณีนี้เริ่มมีขึ้นในภาคตะวันตกของญี่ปุ่น สาเกเพื่อสุขภาพ หรือ “โทโสะ” จะดื่มในเช้าวันขึ้นปีใหม่พร้อมหน้ากับสมาชิกครอบครัวทุกคน เสิร์ฟในชุดจอกตื้นซ้อนกัน 3 ใบแบบดั้งเดิม ในสาเกมีส่วนผสมของสมุนไพรหลากหลาย เมื่อดื่ม เชื่อว่าโรคภัยที่ยังคงติดมาจากปีเก่าจะถูกชะล้างไปพร้อมกับอวยพรให้อายุยืนและมีสุขภาพดี พิธีกรรมนี้เพื่อการเฉลิมฉลองมากกว่าดับกระหาย แค่จิบเล็กน้อยก็เพียงพอแล้ว


มกราคม 1 - 7

อธิษฐานขอพรแรกที่ศาลเจ้าหรือวัด

Image
guide-new-year-8-1

ภายในสามวันแรกของปีใหม่ แม้แต่ชาวญี่ปุ่นที่ไม่เคร่งในศาสนาหรือจิตวิญญาณก็จะไปที่ศาลเจ้าหรือวัดเพื่อขอพรแรกแห่งปี เป็นประเพณีที่เรียบง่าย ในระหว่างช่วงนี้ของปี คุณจะเห็นฝูงชนเข้าแถวเพื่อบริจาคเล็กๆ น้อยๆ (เหรียญ 5 เยนนำโชคที่สุด) แล้วตั้งอกตั้งใจอธิษฐานขอพรสำหรับปีใหม่ที่มาเยือนกับเทพที่ประดิษฐานอยู่ เนื่องจากอากาศจะหนาวเย็น ศาลเจ้าหลายแห่งจึงบริการ “อามะสาเก” โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เครื่องดื่มรสกลมกล่อมและหวานหอมทำจากข้าวหมักซึ่งปกติจะเสิร์ฟอุ่นๆ ผู้คนยังมาเสี่ยงเซียมซีเพื่อรับใบทำนายดวงชะตาของปีที่มาถึง และซื้อเครื่องรางและของขลังสำหรับปีใหม่ ส่งคืนอันที่ซื้อเมื่อปีก่อนเพื่อนำไปเผาในศาสนพิธีตามแบบแผน


มกราคม 1 - 7

ดูว่าดวงชะตามีอะไรมานำเสนอให้คุณในปีนี้กับ "โอมิคุจิ"

Image
guide-new-year-9-1

หนึ่งในประเพณีปีใหม่ซึ่งเป็นที่นิยมที่สุดในญี่ปุ่น คือการเสี่ยงเซียมซีเพื่อรับใบทำนายที่วัดหรือศาลเจ้า หรือ “โอมิคุจิ” เพื่อดูว่าปีนี้โชคลาภของพวกเขาจะดีแค่ไหน โดยปกติแล้วจะมีรูปแบบชะตาราวๆ หนึ่งร้อยรูปแบบหรือมากกว่านั้นที่อาจเสี่ยงได้ ในแต่ละแบบจะมีคำบรรยายระบุเฉพาะว่าคนคนนั้นจะโชคดี (หรือโชคร้าย) โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับการเงิน, สุขภาพ, ความรัก และอื่นๆ หากคุณได้โชคร้าย เป็นธรรมเนียมว่าจะต้องผูกไว้ตรงพื้นที่ที่กำหนดไว้ในบริเวณวัดหรือศาลเจ้า เพื่อหวังว่าจะหลีกเลี่ยงโชคที่ไม่ดีนั้น


มกราคม 1 - 7

ซื้อ "โอมาโมริ" เพื่อความโชคดี

Image
guide-new-year-10-1

คำเรียกรวมๆ ของเครื่องรางและของขลัง ตามธรรมเนียมโอมาโมริจะซื้อที่ศาลเจ้าและวัด มีโอมาโมริที่ต่างกันเพื่อจุดประสงค์หลากหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการขับไล่วิญญาณชั่วร้าย, ขอให้ได้พบเนื้อคู่, ช่วยให้การเงินดีขึ้น, ช่วยให้คลอดอย่างปลอดภัย, และอื่นๆ และยังมาในรูปร่างหลายแบบ ที่พบเห็นได้ทั่วไปที่สุดคือถุงไหมปักเล็กๆ (อย่าเปิด ไม่เช่นนั้นจะเสื่อมสรรพคุณ!) แต่ก็มีแบบลูกศรปราบปีศาจ (“ฮามายะ”) ด้วย ห้ามเผาเครื่องราง, ของขลัง, ของนำโชคเด็ดขาด! หากคุณต้องทิ้งมัน ให้หย่อนไว้ที่วัดเพื่อประกอบศาสนพิธีตามแบบแผน


มกราคม 1 - 7

แจกซองเงินให้กับเด็กๆ

Image
guide-new-year-11-1

ขณะที่การแลกของขวัญในเทศกาลคริสต์มาสไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นทั่วไป แต่เด็กๆ ในญี่ปุ่นย่อมได้รับอย่างไม่ขาดมือแน่นอน เด็กชาวญี่ปุ่นสามารถมีเงินถุงเงินถังได้เพราะ “โอโตชิดามะ” ซองเล็กๆ มีลวดลายที่สอดเงินสดไว้เต็ม ปกติเด็กจะได้รับโอโตชิดามะจากผู้ปกครองและญาติๆ ในจำนวนที่เพิ่มขึ้นตามอายุของพวกเขาเมื่อใกล้เข้าสู่วัยผู้ใหญ่ (ส่วนใหญ่เด็กทุกคนในครอบครัวจะได้รับเงินเท่าๆ กันเพื่อไม่ให้รู้สึกน้อยใจ) อาจจะดูห่างเหินนิดหน่อย แต่เด็กๆ สามารถใช้จ่ายลาภใหม่ก้อนนี้ได้ตามใจชอบ


มกราคม 1 - 3

สนุกสนานไปกับเกมและกิจกรรมตามประเพณี

Image
guide-new-year-12-1
Image
guide-new-year-12-2

มีวิธีมากมายที่จะเฉลิมฉลองปีใหม่ในญี่ปุ่น หลายวิธีก็ต่างออกไปตามแต่ละครอบครัว หนึ่งในวิธีที่รู้จักกันดีและนิยมที่สุดคือการเล่นเกมพื้นบ้านเช่น “ฮาเนทสึคิ” เกมที่คล้ายแบดมินตันโดยมีไม้ตีทำจากไม้ประดับของตกแต่ง หรือลูกข่างไม้ ว่าว หรือ “คารุตะ” เกมไพ่แบบโบราณ กิจกรรมดั้งเดิมอื่นๆ เช่นคัดอักษรและอ่านกลอนก็ทำกันทั่วไป ผู้สูงอายุค่อนข้างนิยมดูการแสดงซิมโฟนีหมายเลข 9 ของบีโทเฟ่น ซึ่งช่วยกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นขึ้นในช่วงปีใหม่ของญี่ปุ่นได้อย่างน่าประหลาดใจ อย่างไรก็ตาม บางครอบครัวเพียงพอใจกับการขุดเกมกระดานเก่ามาเล่นใหม่แล้วรื่นเริงไปกับการได้ใช้เวลาอยู่ร่วมกัน


มกราคม 1 - 3

ดูประเพณีการเชิดสิงโต

Image
guide-new-year-13-1

เชิดสิงโต หรือ “ชิชิไม” เดิมรับเข้าสู่ญี่ปุ่นช่วงสมัยราชวงศ์ถัง แต่หลังจากนั้นก็กลืนเข้าสู่วัฒธรรมญี่ปุ่นอย่างเต็มตัว โดยมีรูปแบบแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับแต่ละส่วนภูมิภาค ชิชิไมจะจัดแสดงที่ศาลเจ้าและสถานที่ต่างๆ ทั่วญี่ปุ่นในระหว่างการเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ ร่วมไปกับเทศกาลดนตรี สิงโตอาจดูดุร้ายสักหน่อย แต่หาก “ขบ” หยอกศีรษะเด็กคนใดแล้วล่ะก็ ว่ากันว่าเด็กคนนั้นจะสุขภาพดีไปตลอดทั้งปี


2 มกราคม

รอคอยความฝันแรกในคืนปีใหม่

Image
guide-new-year-14-1

อย่างน้อยตั้งแต่สมัยเอโดะ (1603-1868) ผู้คนในญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับฝันแรกในคืนปีใหม่มาก ประเพณีดั้งเดิมหมายถึงความฝันในคืนที่ 1-2 มกราคม (เพราะผู้คนโต้รุ่งกันเมื่อคืนก่อนและไม่ยอมหลับยอมนอน) เชื่อกันว่าสิ่งใดก็ตามที่คุณฝันเห็นจะเป็นลางบอกเหตุถึงโชคลาภที่คุณจะได้รับไปตลอดทั้งปีที่เหลือ หากคุณเกิดฝันเห็นภูเขาฟูจิ, เหยี่ยว, หรือมะเขือม่วงล่ะก็ คุณน่าจะเป็นคนที่โชคดีที่สุดเลยเชียว!